เพราะการร้องไห้คือการสื่อสารของลูก

เคยสักครั้งไหมครับ ที่ลูกร้องไห้ไม่หยุด แล้วรู้สึกสงสัยว่า “กับแค่เรื่องแค่นี้ ทำไมไม่หยุดร้องไห้เสียที” หรือ “ทำไมต้องร้องไห้ขนาดนี้ด้วย ก็แค่ …”

“การร้องไห้” คือ การสื่อสารชนิดหนึ่งของมนุษย์ที่เป็นสัญชาตญาณติดตัวมาตั้งแต่เกิดเพื่อ ‘สื่อสาร’ ว่า “ฉันรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่ปกติ” โดยในช่วงแรกของชีวิตนั้น การร้องไห้จะเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะทำให้อยู่รอด ได้แก่ ความหิว ความง่วง และความไม่ปลอดภัย

เด็กเล็กจึงร้องไห้เพื่อให้แม่เข้ามาอุ้มกอด ให้นม(อาหาร)และเพื่อให้คนในครอบครัวคนอื่น ๆ เข้ามาดูแลและปกป้องเขาจากความไม่ปลอดภัยต่าง ๆ นั่นทำให้เด็กคนหนึ่งรอดตายและเติบโตขึ้นมาได้ และนั่นทำให้ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่ร้องไห้เพราะอารมณ์ความรู้สึก

เมื่อเด็กเริ่มเติบโตและมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ อย่างก้าวกระโดด เด็กเริ่มเรียนรู้จากร่างกายของตัวเองและขยายออกไปยังสิ่งรอบตัว เช่น เต้านม พ่อแม่ ครอบครัว สิ่งของ เป็นต้น จนกระทั่งเริ่มเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า Object Permanence หรือรู้การคงอยู่ของวัตถุต่าง ๆ รอบตัว เด็กจะเริ่มเรียนรู้การคงอยู่ของสิ่งของตั้งแต่ช่วงอายุราว 6 เดือนที่พ่อแม่กระตุ้นการเรียนรู้นี้ผ่านการเล่น “จ๊ะเอ๋” นั่นเอง

เด็กเรียนรู้ว่าหน้าของพ่อแม่นั้นหายไปหลังมือและจู่ ๆ ก็กลับมาที่เดิมได้ จนทำให้เด็กเริ่มเข้าใจว่า แม้จะมองไม่เห็นพ่อแม่แล้วก็ตามเมื่อเอามือบัง แต่พ่อแม่ก็ยังคงอยู่ตรงนั้น ไม่ได้หายไปไหนนั่นเอง โดยตามระยะของการพัฒนาการของเด็กของ Piaget กล่าวว่า Object Permanence เป็นหลักไมล์ของพัฒนาการเด็กที่สำคัญซึ่งพัฒนาอย่างชัดเจนราวอายุ 8 เดือนขึ้นไป เด็กจะเริ่มเปิดหาของที่ถูกคลุมด้วยผ้าอยู่ได้

เมื่อ Object Permanence พัฒนาอย่างเต็มที่ เด็กจะเริ่มมีความวิตกกังวลจากการพลัดพราก (Separation Anxiety) เมื่อเด็กไม่เห็นผู้เลี้ยงหลัก (พ่อแม่) หายไปจากสายตาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินหนีไปอย่างชัดเจน หรือหาแล้วไม่เจอ เด็กจึงร้องไห้เพื่อเรียกพ่อแม่ให้มาหาเขา (อย่างสุดเสียง)

ในขณะเดียวกันเด็กก็เริ่มรู้จักสิ่งของรอบตัวมากขึ้น เช่น ตุ๊กตาตัวโปรด ของเล่นที่ชอบ และผ้าผืนที่คุ้นเคย เป็นต้น เมื่อเขาไม่เห็นสิ่งของที่ตัวเองคุ้นเคยเหล่านี้ไม่ว่าจะเกิดจากการถูกแย่ง การสูญหาย หรือพ่อแม่หยิบไปซักทำให้เขาใช้งานไม่ได้ เด็กจึงร้องไห้

ต่อมาเมื่อเด็กเติบโตขึ้น เด็กจะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น

และเลือกที่จะทำหรือไม่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ด้วย ดังนั้นหากไม่ได้ทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ หรือถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ไม่ได้ต้องการทำ เด็กจึงแสดงออกมาด้วยความโกรธ ความเสียใจ และการร้องไห้เช่นกัน

เหล่านี้คือสาเหตุของการร้องไห้ที่พบบ่อยในเด็กเล็ก แต่ทำไมเด็กจึงร้องไห้รุนแรงมากเมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์ที่ดูไม่สลักสำคัญเหล่านี้ เช่น เด็กบางคนลงไปนอนดิ้นบนพื้นอย่างรุนแรงเพียงเพราะพ่อกดล็อกประตูหน้าบ้านก่อนที่เขาจะกด (เพราะนี่คือสิ่งที่เขาต้องทำเองทุกวันเมื่อกลับเข้ามาในบ้าน) หรือเด็กบางคนร้องไห้แทบขาดใจเพียงเพราะแม่เอากระต่ายตัวโปรดของเขาไปซัก เป็นต้น ซึ่งบางครั้งพ่อแม่เองอาจไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าลูกร้องไห้เพราะอะไรเสียด้วยซ้ำ

✅ ประการแรก คือ เขากำลังสื่อสารบางอย่างกับพ่อแม่ว่าเขารู้สึกโกรธ เสียใจ ไม่ปลอดภัย หรือบางครั้งก็แค่ง่วงมาก

✅ ประการที่สอง คือ ‘เขาก็คือเด็กคนหนึ่ง’ ที่ต้องเผชิญหน้ากับพายุอารมณ์ทที่ถูกกระตุ้นด้วยสาเหตุต่าง ๆ เด็กหลายคนเพิ่งเผชิญกับการสูญเสียตุ๊กตาตัวโปรดไป เอามากอดไม่ได้ เพราะแม่เอาไปซัก เขาไม่เคยเจอกับการสูญเสียแบบนี้มาก่อนในชีวิต ดังนั้นการสูญเสียนี้สำหรับเด็กน้อยคนหนึ่งจึงเหมือนลูกจะถล่มทลาย (หากจะเปรียบเทียบก็คือ เหมือนการอกหักครั้งแรกนั่นเอง มันรู้สึกเหมือนฟ้าถล่มโลกทลาย)

✅ ประการที่สาม คือ สมองส่วนอารมณ์ของเด็กนั้นทำงานอย่างเต็มที่ ในขณะที่สมองส่วนคิดที่อยู่ส่วนหน้าของสมองนั้นยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นสมองของเด็กจึงไม่สามารถกักเก็บ จัดการ และรองรับกับอารมณ์ที่พุ่งพล่านเหล่านี้จากสมองส่วนอารมณ์ได้ (กว่าสมองส่วนหน้าจะเจริญเต็มที่ก็คือราวอายุ 20+ ปี)

ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ควรทำ ก็คือ ทำความเข้าใจกับเสียงร้องไห้ของลูก เป็นความสงบเยือกเย็นอยู่ข้าง ๆ ลูกในยามที่เขากำลังเรียนรู้อารมณ์ ความสูญเสียและความไม่ได้ดั่งใจเหล่านี้อยู่ และให้ความเมตตาสอนเขาให้รู้วิธีการจัดการกับอารมณ์เหล่านี้ได้อย่างเหมาะสมต่อไป

ที่มาข้อมูล : www.thaipbskids.com
หากสนใจเรื่องราวอื่น ๆ สามารถติดตามอ่านต่อได้ที่ queenslandmultimediaawards.com